วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

การทำนาเกลือ


   
การทำนาเกลือ


         ความรู้เกี่ยวกับเกลือ                                                                                                                  
         เกลือเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง มีชื่อทางเคมีว่า “โซเดียมคลอไรด์” (NaCl) มี ลักษณะเป็นผลึกสีขาว รสเค็ม เกลือเป็นอาหารธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ และสัตว์มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ต้องบริโภคเกลือประมาณวันละ 5-10 กรัม เพื่อนำไปช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายให้เซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ทำงานอย่างปกติ นอกจากนี้เกลือยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้มากมายเช่น ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร ผสมกับน้ำแข็งเพื่อเพิ่มความเย็น ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีต่างๆ ได้แก่ โซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต (NaHCO3) หรือโซดาทำขนมโซเดียมคาร์บอเนต (NaCO3) หรือโซดาแอส โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟ และ ไฮโดรคลอริก(HCl) หรือกรดเกลือ เป็นต้น

         ประเภทของเกลือ
         การผลิตเกลือของประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ เกลือทะเลหรือเกลือสมุทรและเกลือหินหรือเกลือสินเธาว์ โดยแต่ละประเภทมีที่มาแตกต่างกัน ดังนี้
         1. เกลือทะเลหรือเกลือสมุทร (Sea Salt) คือเกลือที่ผลิตขึ้นโดยการนำน้ำทะเลขึ้นมาตากแดดให้น้ำระเหยไปเหลือแต่ผลึก เกลือตกอยู่ (Solar Evaporation System) เกลือ ประเภทนี้มีการผลิตและการใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณและถือเป็นอาชีพเก่าแก่อาชีพ หนึ่งของโลกและของคนไทย โดยได้มีการกำหนดเป็นสินค้าเกษตรกรรมขั้นต้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509
         2. เกลือหินหรือเกลือสินเธาว์ (Rock Salt) คือเกลือที่ทำจากดินที่น้ำชะดินละลายแล้วแห้งปรากฎเป็นคราบเกลือติดอยู่บนผิว ดิน เรียกว่า “ส่าดิน” เมื่อน้ำผิวดินหรือส่าดินมาละลายน้ำ แล้วต้มจะได้เกลือสินเธาว์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ได้มีการค้นพบเกลือหินที่อยู่ใต้ดินในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้รูปแบบการผลิตเกลือสินเธาว์เปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้เกลือหินแทน โดยใช้วิธีฉีดน้ำลงไปละลายเกลือในบ่อเกลือ หรือใช้วิธีสูบน้ำเกลือใต้ดินขึ้นมาตากแดด หรือโดยการต้มเพื่อให้ได้ตะกอนเกลือ และหากใช้เครื่องจักรที่ทันสมัยสามารถผลิตได้ตลอดปี
         ปัจจุบัน เกลือหินได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายและเป็นคู่แข่งกับเกลือทะเล เพราะสามารถใช้ทดแทนกันได้ แต่เกลือหินมีข้อแตกต่างจากเกลือทะเลที่ไม่มีธาตุไอโอดีน (ป้องกันโรคคอหอยพอกและโรคเอ๋อ) และได้ถูกกำหนดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510

         การผลิตเกลือ
         การผลิตเกลือทะเลหรือเกลือสมุทร
         การทำเกลือทะเลต้องใช้น้ำทะเลเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นแหล่งผลิตจึงต้องอยู่บริเวณใกล้ชายฝั่งทะเล ถึงแม้ประเทศไทยจะมีชายฝั่งทะเลยาวถึง 2,600 กิโลเมตร แต่แหล่งที่เหมาะสมสำหรับการผลิตเกลือทะเลมีค่อนข้างจำกัดคือ ต้องมีลักษณะทางภูมิประเทศเป็นที่ราบ สภาพดินต้องเป็นดินเหนียว สามารถอุ้มน้ำได้ดีป้องกันไม่ให้น้ำเค็มซึมลงไปใต้ดิน และป้องกันไม่ให้น้ำจืดซึมขึ้นมาบนดิน มีกระแสลมและแสงแดดช่วยในการตกผลึกเกลือ
         แหล่งผลิตที่สำคัญแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
          1. กลุ่มที่มีการผลิตมาก ประมาณร้อยละ 90.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 3 จังหวัดภาคกลาง คือ จังหวัดเพชรบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
          2. กลุ่มที่มีการผลิตเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 10.0 ของผลผลิตทั้งประเทศ อยู่ที่ 4 จังหวัดในภาคกลางและภาคใต้ คือ จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา และปัตตานี
        ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 81,485 ไร่ โดยจังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่มากที่สุด ร้อยละ 47.0 รองลงมาได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ร้อยละ 43.1 จังหวัดสมุทรสงคราม ร้อยละ 7.7 จังหวัดชลบุรี ร้อยละ 1.0 จังหวัดจันทบุรี ร้อยละ 0.6 จังหวัดปัตตานี ร้อยละ 0.4 และจังหวัดฉะเชิงเทรา ร้อยละ 0.2 ตามลำดับ

         ฤดูการผลิตเกลือทะเล
         การทำนาเกลือในภาคกลางจะเริ่มในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป ระยะเวลาประมาณ 6-7 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศเนื่องจากการทำนาเกลือไม่สามารถจะทำได้ในช่วงฤดูฝน และจะเริ่มเก็บผลผลิตเกลือได้ประมาณกลางเดือนมกราคม เป็นต้นไป
         สำหรับการนำเกลือในภาคใต้ที่จังหวัดปัตตานี มีระยะเวลานานกว่าภาคกลางโดยสามารถผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ประมาณ 5 เดือน และครั้งที่สองเริ่มประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ประมาณ 3 เดือน รวมมีช่วงการผลิตประมาณ 8 เดือน ส่วนในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม จะมีฝนตกชุกไม่สามารถทำนาเกลือได้
ผลผลิต
        ผลผลิตเกลือทะเลในสภาพอากาศปกติ โดยเฉลี่ยทั้งประเทศมีประมาณปีละ 990,000 ตัน(ผลผลิตปี 2550 - 2553) ผลผลิตจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพอากาศว่าปีใดมีฝนตกมากหรือน้อย
        ต้นทุนการผลิต
        ต้นทุนการผลิตเกลือทะเล ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน รองลงมาเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ผลิตคือน้ำทะเลไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยประมาณ 737 บาทต่อตัน
        ผลพลอยได้
         1. สัตว์น้ำทะเลต่างๆ เกษตรกรชาวนาเกลือที่มีพื้นที่กักเก็บน้ำทะเล (วัง) ก็จะมีสัตว์น้ำทะเลต่างๆ เช่น กุ้งขาว กุ้งแชบ๊วย ปลาหมอเทศ ปลากระพง ปูทะเล ฯลฯ อยู่ภายในวัง เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติเพื่อเป็นรายได้เสริมทางหนึ่ง
         2. น้ำเค็ม เนื่องจากน้ำในนาเกลือมีความเค็มมากกว่าน้ำทะเล เกษตรกรชาวนาเกลือสามารถจำหน่ายน้ำเค็มให้กับเกษตรกรชาวนากุ้ง เพื่อนำไปผสมกับน้ำปกติเพื่อใช้เพาะเลี้ยงกุ้ง
         3. เกลือจืด (ยิปซั่ม) เกลือจืดหรือยิปซั่มเป็นสินแร่ที่เกิดในนาเกลือเฉพาะแปลงที่ใช้กักเก็บน้ำแก่ (นารองเชื้อและนาเชื้อ) เกลือจืดจะเกิดอยู่บนหน้าดิน เกษตรกรชาวนาเกลือจะทำเกลือจืดในฤดูฝน หลังจากหมดฤดูทำนาเกลือแล้ว โดยจะขังน้ำฝนไว้ในแปลงนาที่มีเกลือจืด แล้วรวบรวมเกลือจืดเข้าเป็นกองๆ จากนั้นก็จะร่อนและล้างเอาเศษดินเศษโคลนออกให้เหลือแต่เม็ดเกลือจืดที่แข็ง คล้ายทรายหยาบๆ และไม่ละลายน้ำ
            การทำเกลือจืดมักเป็นงานของผู้หญิงที่รวมกลุ่มกัน 4-5 คน ช่วยกันทำ เป็นงานที่ไม่หนักเหมือนการทำนาเกลือ แต่เป็นงานที่ช้าและเสียเวลา รวมทั้งต้องแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลาที่ทำเกลือจืด โดยปกติราคาเกลือจืดจะสูงกว่าเกลือทะเล สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตปูนปลาสเตอร์ ทำยาสีฟันชนิดผง และแป้งผัดหน้า เป็นต้น
         4. ดีเกลือ การทำดีเกลือจะทำแปลงเฉพาะไม่ปนกับแปลงนาเกลือ โดยนำน้ำจากการรื้อเกลือแต่ละครั้งไปขังรวมกันไว้ ทิ้งไว้ระยะหนึ่งก็จะมีดีเกลือเกิดขึ้นเกาะอยู่ตามพื้นนา เกษตรกรชาวนาเกลือจะเก็บดีเกลือทุกวันในเวลาเช้าก่อนแดดออก (ถ้าแดดจัดดีเกลือจะละลายไปกับน้ำ) ดีเกลือชนิดนี้จะเป็นเม็ดสีขาวมีรสขม นำไปใช้ประกอบเป็นเครื่องยาไทยโบราณประเภทยาระบายหรือยาถ่าย และน้ำที่อยู่ในนาดีเกลือจะมีความเค็มจัดมากเรียกว่า “น้ำดีเกลือ” นำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการทำเต้าหู้ เป็นสารทำให้เต้าหู้แข็งตัว
         5. ขี้แดด เป็นส่วนที่อยู่บนผิวดินของนาเกลือ มีลักษณะเป็นแผ่นร่อนอยู่บนผิวนา ซึ่งเกษตรกรชาวนาเกลือต้องทำการเก็บขี้แดดก่อนทำการบดดินตอนต้นฤดูการทำนาเกลือ ขี้แดดนี้สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยปลูกพืชได้

         การตลาดเกลือทะเลภายในประเทศ
         การผลิตเกลือทะเลในรูปของเกลือเม็ด จะถูกรวบรวมโดยพ่อค้าคนกลางประเภทพ่อค้าท้องที่และพ่อค้าท้องถิ่น โดยพ่อค้าคนกลางจะไปรับซื้อถึงฟาร์มของเกษตรกรทั้งทางบกและทางน้ำ และในบางท้องที่เกษตรกรจะขายผ่านสหกรณ์การเกษตรที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ จากนั้นสินค้าเกลือทะเลจะไหลเวียนไปยังแหล่งต่างๆ ได้แก่ โรงโม่เกลือ โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ก่อนจะกระจายไปถึงผู้บริโภค
         ตลาดเกลือทะเลภายในประเทศ เมื่อพิจารณาตามคุณภาพสินค้าที่นำเกลือทะเลไปประกอบใช้เป็นวัตถุดิบในขบวนการผลิต สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
         1. เกลือคุณภาพสูง คือ กลุ่มที่ต้องการเกลือทะเลที่มีความบริสุทธิ์ ประมาณร้อยละ 99.9 มีสิ่งเจือปนต่ำ โดยนำไปใช้ทำประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ การใช้ในการสร้างเรซิน การผลิตกระจก การผลิตเคมีภัณฑ์ต่างๆ และใช้ในการบริโภค
         2. เกลือคุณภาพปานกลาง คือ กลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องใช้เกลือที่มีความบริสุทธิ์มากนัก ได้แก่ การนำไปใช้บริโภค การถนอมอาหาร การผลิตอาหารสัตว์ และการฟอกย้อม เป็นต้น
         3. เกลือคุณภาพปานกลางถึงต่ำเป็นเกลือที่มีความบริสุทธิ์น้อยกว่าสองกลุ่มแรกและมี สิ่งเจือปนพอสมควร มักนิยมใช้ในอุตสาหกรรมบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

         ราคาเกลือทะเล
         เกลือทะเลมีหน่วยการขายเป็นเกวียนโดย 1 เกวียนเท่ากับ 1,500 กิโลกรัม ราคาเกลือทะเลที่เกษตรกรขายได้ในฤดูการผลิตปี พ.ศ. 2550 - 2553 ไม่ค่อยคงที่ ราคาเกลือโดยปกติจะเคลื่อนไหวขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทาน โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 - 2553 มีราคาเฉลี่ยดังภาพด้านล่าง

alt


        การนำเข้าและการส่งออกเกลือทะเล
        1. การนำเข้าเกลือทะเล เกลือสามารถนำเข้าเสรีโดยชำระภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ปี 2550 - 2553 ประเทศไทยมีการนำเข้าเกลือทะเลประมาณปีละเฉลี่ย 7,383.5 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 78 ล้านบาท ซึ่งโดยปกติการนำเข้าเกลือทะเลจากต่างประเทศจะนำเข้ามากเฉพาะในปีที่ขาดแคลนภายในประเทศเท่านั้น ประเทศที่ไทยสั่งนำเข้า ได้แก่ เวียดนาม ออสเตรเลีย และมาเลเซีย เป็นต้น


2550255125522553
ปริมาณการนำเข้า (ตัน)1,0532,86823,3072,306
มูลค่าการนำเข้า (ล้านบาท)2.1568.47757.14211.213*

(* ม.ค. - พ.ย. 53)     ที่มา : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

        2. การส่งออกเกลือทะเล ประเทศไทยมีการส่งออกเกลือทะเลมานานแล้ว แต่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากมีคู่แข่งมาก ได้แก่ สาธารณรัฐปราะชาชนจีน เวียดนาม และออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วประเทศไทยมีการส่งออกประมาณปีละ 1,900 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5 ล้านบาท โดยประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ได้แก่ มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา

2550255125522553
ปริมาณการส่งออก (ตัน)1,4362,3233,924224
มูลค่าการส่งออก (ล้านบาท)2.0885.17010.8862.232*
(* ม.ค. - พ.ย. 53)     ที่มา : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์



     ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. “เกลือทะเล (Solar Salt).” [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://surat.stkc.go.th/surat-travelguide-culturelocalwisdom-localwisdom-saltedegg-ingredients-salt สืบค้น 15 ธันวาคม 2552.
     กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน. สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน. 2548. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการสำรวจงานทำนาเกลือ. กรุงเทพมหานคร : กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน

     กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์. สถานการณ์เกลือทะเลเดือนธันวาคม 2553. เข้าถึงได้จาก http://agri.dit.go.th/web_dit_sec7/admin/uploadfiles/upload_files/%E0%B8%98.%E0%B8%84.53_p.pdf สืบค้นวันที่ 31 มกราคม 2554

ทฤษฏีการกำเนิดโลก



Posts filed under ‘ทฤษฏีการกำเนิดโลก’

ทฤษฏีการกำเนิดโลก

การกำเนิดโลก
ความคิดเกี่ยวกับการกำเนิดของโลกมีมากมายแต่สามารถแบ่งเป็น   2   ทฤษฎีหลักๆ    ได้แก่   ทฤษฎีเนบูลา  (nebular)
และต่อมาได้พัฒนาเป็นทฤษฎีโปรโตแพลเนต (protoplanet)  และทฤษฎีพลาเนตติซิมัล (planetesimal) (ภาพที่ 2 และ 3)
1. ทฤษฎีเนบูลา  (nebular hypothesis) ทฤษฎีโปรโตแพลเนต (protoplanet) อธิบายว่าสารที่เป็นต้นกำเนิดของดวงอาทิตย์
และดาวเคราะห์เป็นกลุ่มของเนบูลาซึ่งประกอบด้วยแก๊สและฝุ่นในท้องฟ้า ต่อมากลุ่มเนบูลาเหล่านี้ได้หดตัวและเกิดการหมุนขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะแรก และทวีความเร็วขึ้นในระยะหลังทำให้เกิดจุดศูนย์กลางและมีวงแหวนหมุนรอบจุด ศูนย์กลางได้มวลสารรวมกันเป็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงจุดศูนย์กลาง การหดตัวเนื่องจากแรงดึงดูดนี้ทำให้เกิดความร้อนขึ้น กลุ่มแก๊สแต่ละกลุ่ม แต่ละวงแหวนได้ก่อกำเนิดเป็นดาวเคราะห์บริวารของดวงอาทิตย์ กรณีนี้โลกอายุเท่ากับดวงอาทิตย์

การกำเนิดโลกตามทฤษฎีเนบูลา (nebular hypothesis)
ภาพที่ 1แสดงการกำเนิดโลกตามทฤษฎีเนบูลา
ทฤษฎีโปรโตแพลเนต กล่าวว่าในอวกาศมีกลุ่มหมอก ฝุ่นละออง และแก๊ส ลอยอยู่ ซึ่งต่อมาเกิดการหดตัวด้วยแรงดึงดูดของมวลของตัวเอง เกิดการรวมตัวกันเข้าสู่ศูนย์กลางหลายจุดซึ่งเป็นอิสระต่อกัน แต่ในที่สุดจุดศูนย์กลางเหล่านั้นถูกบีบอัดเข้าด้วยกันจนกลายเป็นดวงอาทิตย์ และมีสสารแยกตัวออกเป็นแผ่นบางๆ เหมือนจานลอยอยู่โดยรอบดวงอาทิตย์ แรงเสียดทานภายในจานดังกล่าวทำให้เกิดการไหลคล้ายกระแสน้ำวนในจาน  ทำให้จานแตกแยกตัวออกเป็นมวลที่อัดแน่น เรียกว่าโปรโตแพลเนต (protoplanet) หลายๆ ชิ้น  ซึ่งในที่สุดกลายเป็นดาวเคราะห์ต่างๆ รวมทั้งโลกด้วย สำหรับส่วนที่หลุดออกไปนอกวงโคจรจะกลายเป็น ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์น้อย
2. ทฤษฎีพลาเนตติซิมัล (planetesimal hypothesis) อธิบายว่าโลกแยกตัวจากดวงอาทิตย์ โดยเกิดจากการโคจรผ่านเข้ามาของดาวขนาดใหญ่มากดวงหนึ่ง แรงดึงดูดของดาวดวงนี้ได้ดึงเอาส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์แยกออกไปเกิดเป็นดาว เคราะห์ต่างๆ ขึ้น กรณีนี้โลกของเรามีอายุน้อยกว่าดวงอาทิตย์
ภาพที่ 2 ทฤษฎีเนบูลา
ภาพที่ 3 ทฤษฎีพลาเนตติซิมัล

ภาพที่ 4 แสดงจุดกำเนิดโลก

 ที่แบ่งชั้นแก่นโลก เป็นแก่นโลกชั้นนอก (outer core)
และแก่นโลกชั้นใน (inner core) ท่านคิดว่าเขานำเกณฑ์อะไรมาแบ่ง
ตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้นมาจากการรวมกันของฝุ่นและแก๊สที่อยู่ตอน ปลายของเกลียวด้านหนึ่งของกาแล็กซี กลุ่มแก๊ส หมอก และละอองฝุ่นเหล่านั้นได้เคลื่อนเข้ามารวมกันเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปี และมีการปลดปล่อยพลังงานในรูปความร้อนประมาณ 5,000 องศาเซลเซียส เกิดการหลอมรวมกันเป็นโลก  และหลังจากนั้นโลกได้ใช้เวลาร่วม 100 ล้านปีในการคายความร้อน เพื่อจะทำให้เย็นตัวลง ส่วนของเหล็ก และนิเกิล ที่อยู่ในรูปของธาตุแร่ร้อนที่มีน้ำหนักมากความหนาแน่นสูงกว่าธาตุอื่นๆ ได้จมตัวลงไปสู่ศูนย์กลางกลายเป็นแก่นโลก (core) โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ แก่นโลกชั้นใน มีรัศมีประมาณ 1,278 กิโลเมตร และแก่นโลกชั้นนอกความหนาประมาณ 2,200 กิโลเมตร ส่วนธาตุที่มีน้ำหนักเบากว่าส่วนมากจะมีธาตุซิลิกอนและอะลูมิเนียมเป็นองค์ ประกอบ จะถูกยกให้เคลื่อนขึ้นสู่ตอนบนและพื้นผิวและแข็งตัวเป็นเปลือกโลก (crust) ซึ่งมีความหนาประมาณ 5-40 กิโลเมตร และชั้นเนื้อโลก (mantle) ซึ่งอยู่ระหว่างชั้นแก่นโลกกับเปลือกโลกเป็นมวลของหินร้อนมีความหนาประมาณ 2,885 กิโลเมตร ดังภาพที่ 5 และความร้อนภายในโลกส่วนใหญ่จะถูกปลดปล่อยด้วยการนำพาขึ้นสู่เปลือกโลกจาก การเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด
 
การที่นักวิทยาศาสตร์ รู้ว่าภายในโลกของเรามีโครงสร้างดังเช่นที่กล่าวมาข้างต้น ส่วนหนึ่งได้จากการที่ลาวาจากภูเขาไฟได้นำพาหินชั้นเนื้อโลกขึ้นมาสู่ผิวโลกให้เราเห็น ซึ่งส่วนหนึ่งเราได้ข้อมูลจากการวัดคลื่นสะท้อนที่เกิดจากแผ่นดินไหว ซึ่งนับเป็นประโยชน์ของแผ่นดินไหวข้อเดียวที่ทำให้เรารู้จักโครงสร้างภายในของโลกของเราดีขึ้น (ดูรายละเอียดในหัวข้อแผ่นดินไหว)
ภาพที่ 5 แสดงลักษณะชั้นต่างๆ และโครงสร้างภายในของโลก

 ที่มา  http://maneesudalpru.wordpress.com

น้ำหมักชีวภาพ ทำง่าย ประโยชน์เพียบ




น้ำหมักชีวภาพ ทำง่าย ประโยชน์เพียบ

น้ำหมักชีวภาพ

วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สสส.

          ช่วงนี้เราอาจจะได้ยินชื่อ "น้ำหมักชีวภาพ" บ่อยขึ้น ว่าแต่เพื่อน ๆ รู้จักไหมว่า จริง ๆ แล้ว "น้ำหมักชีวภาพ" คืออะไร บริโภคได้หรือไม่ แล้วเราจะทำน้ำหมักชีวภาพขึ้นมาใช้เองได้อย่างไร เอ้า...ตามมาดูกันเลย

          น้ำหมักชีวภาพ หรือ น้ำสกัดชีวภาพ หรือ ปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์ ตามแต่จะเรียก เป็นสารละลายเข้มข้นที่ได้จากการหมักเศษพืช หรือสัตว์ กับสารที่ให้ความหวาน จนถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะได้สารละลายเข้มข้นสีน้ำตาล ประกอบไปด้วยจุลินทรีย์ และสารอินทรีย์หลายชนิด 

          เดิมทีนั้นจุดประสงค์ของการคิดค้น "น้ำหมักชีวภาพ" ขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรโดยเฉพาะ แต่ช่วงหลังก็มีการนำน้ำหมักชีวภาพ มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านอื่นเช่นกัน คือ

           ด้านการเกษตร น้ำหมักชีวภาพ มีธาตุอาหารสำคัญ ทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม แคลเซียม กำมะถัน ฯลฯ จึงสามารถนำไปเป็นปุ๋ย เร่งอัตราการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้น และยังสามารถใช้ไล่แมลงศัตรูพืชได้ด้วย

           ด้านปศุสัตว์ สามารถช่วยกำจัดกลิ่นเหม็น น้ำเสียจากฟาร์มสัตว์ได้ ช่วยป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ ในสัตว์แทนการให้ยาปฏิชีวนะ ทำให้สัตว์แข็งแรง มีความต้านทานโรค ช่วยกำจัดแมลงวัน ฯลฯ

           ด้านการประมง ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยแก้ปัญหาโรคพยาธิในน้ำ  ช่วยรักษาโรคแผลต่าง ๆ ในปลา กบ จระเข้ได้ ช่วยลดปริมาณขี้เลนในบ่อ ช่วยให้เลนไม่เน่าเหม็น สามารถนำไปผสมเป็นปุ๋ยหมักใช้กับพืชต่าง ๆ ได้ดี

           ด้านสิ่งแวดล้อม น้ำหมักชีวภาพ สามารถช่วยบำบัดน้ำเสียจากการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน และสถานประกอบการทั่วไป แถมยังช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะ การเลี้ยงสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนต่าง ๆ นอกจากนี้ยังช่วยปรับสภาพอากาศที่เสียให้สดชื่น และมีสภาพดีขึ้น

          ประโยชน์ในครัวเรือน เราสามารถนำน้ำหมักชีวภาพ มาใช้ในการซักล้างทำความสะอาด แทนสบู่ ผงซักฟอก แชมพู น้ำยาล้างจาน รวมทั้งใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ โถส้วม ท่อระบายน้ำ ฯลฯ ได้ด้วย

          เห็นประโยชน์ใช้สอยของ น้ำหมักชีวภาพ มากมายขนาดนี้ ชักอยากลองทำน้ำหมักชีวภาพดูเองแล้วใช่ไหมล่ะ จริง ๆ แล้ว น้ำหมักชีวภาพ มีหลายสูตรตามแต่ที่ผู้คิดค้นขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ กัน วันนี้เราก็มี วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ แบบง่าย ๆ มาฝากกันด้วย

วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อการเกษตร

          เราสามารถเลือกส่วนผสมจาก พืช ผลไม้สุก หรือสัตว์ อย่างหอยเชอรี่ ในการทำน้ำหมักชีวภาพ ได้

          ส่วนผสม : เราสามารถเลือกส่วนผสมจาก พืช ผลไม้สุก หรือสัตว์ อย่างหอยเชอรี่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ในการทำน้ำหมักชีวภาพ โดยสับเป็นชิ้นเล็ก 3 ส่วน, กากน้ำตาล 1 ส่วน (อาจใช้น้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลทรายขาว ผสมน้ำมะพร้าว 1 ส่วนแทนได้) น้ำเปล่า 10 ส่วน

          วิธีทำ : นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้ากัน แล้วบรรจุลงในถังหมักพลาสติก หรือขวดปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม นานประมาณ 3 เดือน แล้วจึงสามารถนำไปใส่เป็นปุ๋ยให้พืชผักผลไม้ได้ โดย

           ใช้น้ำหมักชีวภาพ อัตราส่วน 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อบำรุงใบพืชผักผลไม้

           ใช้น้ำหมักชีวภาพอัตราส่วน 15-20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน ให้ดินร่วนซุย

           ใช้น้ำหมักชีวภาพ อัตราส่วน 1 ส่วน น้ำ 1 ส่วน เพื่อกำจัดวัชพืช

          ทั้งนี้ มีเทคนิคแนะนำว่า หากต้องการบำรุงส่วนใบพืช ก็ให้ใช้ส่วนใบยอดพืชมาหมัก หากต้องการบำรุงผล ให้ใช้ส่วนผล เช่น กล้วยน้ำว้าสุก มะละกอสุก เปลือกสับปะรด ฟักทองมาหมัก หรือหากต้องการใช้กำจัดศัตรูพืข ควรหมักสะเดา ตะไคร้หอม ข่า แยกต่างหากด้วย เมื่อจะใช้ก็นำมาผสมฉีดพ่นพืชผักผลไม้

          นอกจากนี้ หากใช้สายยางดูดเฉพาะน้ำใส ๆ จากน้ำหมักชีวภาพที่หมักได้ 3 เดือนแล้วออกมา จะเรียกส่วนนี้ว่า "หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพ" เมื่อนำไปผสมอีกครั้ง แล้วหมักไว้ 2 เดือน จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพอายุ 5 เดือน ซึ่งหากขยายต่ออายุทุก ๆ 2 เดือน จะได้หัวเชื้อที่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และประสิทธิภาพสูงมากขึ้น

วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อการซักล้าง

          น้ำหมักชีวภาพ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการซักล้างได้ โดยมีสูตรให้นำผลไม้ เปลือกผลไม้ (ฝักส้มป่อย , มะคำดีควาย , มะนาว ฯลฯ) 3 ส่วน น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอ้อย 1 ส่วน และน้ำ 10 ส่วน ใส่รวมกันในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท โดยให้เหลือช่องว่างไว้ประมาณ 1 ใน 5 ของขวด/ถัง แล้วหมั่นเปิดฝาคลายแก๊สออก โดยต้องวางไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด หมักไว้นาน 3 เดือน ก็จะได้น้ำหมักชีวภาพ สำหรับซักผ้า หรือล้างจานได้ ซึ่งสูตรนี้แม้ว่าผ้าจะมีราขึ้น หากนำผ้าไปแช่ทิ้งไว้ในน้ำหมักชีวภาพก็จะสามารถซักออกได้


น้ำหมักชีวภาพ

วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ


วิธีทำ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อดับกลิ่น

          สูตรหนึ่งของการทำน้ำหมักชีวภาพมาดับกลิ่น คือ ใช้เศษอาหาร พืชผัก ผลไม้ที่เหลือทิ้ง 3 ส่วน กากน้ำตาลหรือโมลาส 1 ส่วน และน้ำ 10 ส่วน  ใส่รวมกันในภาชนะที่มีฝาปิดสนิท โดยให้เหลือช่องว่างไว้ประมาณ 1 ใน 5 ของขวด/ถัง หมักไว้นาน 3 เดือน ก็จะได้น้ำหมักชีวภาพใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ โถส้วม ท่อระบายน้ำ กลิ่นปัสสาวะสุนัข ฯลฯ ได้อย่างดี

ข้อควรระวังในการใช้ น้ำหมักชีวภาพ

           1. หากใช้น้ำหมักชีวภาพกับพืช ต้องใช้ปริมาณเจือจาง เพราะหากความเข้มข้นสูงเกินไป อาจทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต และตายได้

           2. ระหว่างหมัก จะเกิดก๊าซต่าง ๆ ในภาชนะ ดังนั้นต้องหมั่นเปิดฝาออก เพื่อระบายแก๊ส แล้วปิดฝากลับให้สนิททันที

           3. หากใช้น้ำประปาในการหมัก ต้องต้มให้สุก เพื่อไล่คลอรีนออกไปก่อน เพราะคลอรีนอาจเป็นอันตรายต่อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการหมัก

           4. พืชบางชนิด เช่น เปลือกส้ม ไม่เหมาะในการทำน้ำหมักชีวภาพ เพราะน้ำมันที่เคลือบผิวเปลือกส้มเป็นพิษต่อจุลินทรีย์

น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค

          เราอาจเคยได้ยินข่าวว่า มีคนนำน้ำหมักชีวภาพมาใช้บริโภคกันด้วย ซึ่งน้ำหมักชีวภาพที่ใช้ในการบริโภค หรือ เอนไซม์ เป็นสารโปรตีน วิตามินเอ บี ซี ดี อี เค อะมิโนแอซิค(Amino acid) และ อะเซทิลโคเอ (Acetyl Coa) ที่ได้จาก หมักผลไม้นานาชนิด เมื่อหมักระยะเริ่มแรกจะเป็นแอลกอฮอล์ ระยะต่อมา เป็นน้ำส้มสายชู ซึ่งมีรสเปรี้ยว อีกระยะหนึ่งเป็นยาธาตุ มีรสขม ก่อนจะได้เป็นน้ำหมักชีวภาพ (เอ็นไซม์) ซึ่งใช้เวลาหมักขยายประมาณ 2 ปี แต่หากจะนำไปดื่มกินควรผ่านการหมักขยายเป็นเวลา 6 ปีขึ้นไป

          โดยประโยชน์จากน้ำหมักชีวภาพนั้น หากมีการนวัตกรรมการผลิตที่ดีจะส่งผลดีต่อสุขภาพของระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ทำให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แต่น้ำหมักชีวภาพ ที่ขายอยู่ตามท้องตลาด มักเป็นน้ำหมักชีวภาพที่อยู่ในสภาพเป็นแอลกอฮอล์ ดังนั้นเมื่อดื่มกินแล้วอาจมีอาการร้อนวูบวาบ มึนงง และอาจทำให้ฟันผุกร่อนได้ เพราะน้ำหมักชีวภาพ (เอนไซม์) มีสภาพเป็นกรดสูง ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มน้ำหมักชีวภาพแบบเข้มข้น 

          อย่างไรก็ตาม การทำน้ำหมักชีวภาพ ที่ใช้บริโภคนั้น ยังขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ หากดื่มกินเข้าไปก็เสี่ยงต่ออันตรายได้ โดยเฉพาะมีข้อมูลจาก สวทช. ร่วมกับ อย.ที่ได้เก็บตัวอย่างของผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพที่วางขายตามท้องตลาดมาตรวจสอบ พบว่า น้ำหมักชีวภาพเหล่านี้ แม้จะไม่มีการปนเปื้อนของโลหะ เศษไม้ เศษดิน แต่พบการปนเปื้อนของเชื้อรา ยีสต์ เมทิลแอลกอฮอล์ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทและตา โดยเฉพาะเมทานอล หรือเมธิลแอลกอฮอล์ที่ทำอันตรายต่อร่างกายได้

          ดังนั้นแล้ว เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา รวมทั้งต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต แหล่งผลิต และบรรจุภัณฑ์หีบห่อด้วย แต่ถ้าหากจะนำ "น้ำหมักชีวภาพ" มาใช้ในครัวเรือน หรือการเกษตร ลองทำง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ก็จะปลอดภัยและประหยัดที่สุด


     ที่มา   http://hilight.kapook.com/view/50873


แอดมิชชั่น Admission คืออะไร



    แอดมิชชั่น Admission คืออะไร


การสอบแอดมิชชั่นถือว่าเป็นการสอบชี้ชะตาของนักเรียนในระดับชั้น ม.6 ทุกคนที่ต้องเข้าสู่สนามสอบแข่งขันเข้าสู่คณะและมหาวิทยาลัยที่ฝันไว้ ถือเป็นการสอบครั้งใหญ่ที่สุดของชีวิต นักเรียนที่เข้าสอบทุกคนจะแบกรับความเครียดจากการติวหนังสือมาราธอน ความคาดหวังจากผู้ปกครอง และความต้องการจะไปให้ถึงความฝันของตัวเอง เมื่อแอดมิชชั่นมีความสำคัญต่อเรามาก การทำความรู้จักกับมันให้ละเอียดจึงเป็นสิ่งจำเป็นครับ

แอดมิชชั่น Admission สิ่งที่อยู่เคียงคู่เด็ก ม.6 มาแล้วทุกรุ่น!

การสอบแอดมิสชั่น
     แอดมิชชั่น หรือ Admission ชื่อเต็มๆว่า ระบบกลางคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Central University Admissions System: CUAS) ดูแค่ชื่อก็น่าจะทราบกันดีแล้วว่าแอดมิสชั่นคือระบบสอบกลางที่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า ที่มีความต้องการจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ต้องสอบ แล้วนำคะแนนสอบที่ได้มายื่นเลือกคณะกันอีกที
     ระบบแอดมิชชั่นนี้ บริหารงานโดย สถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อว่า สทศ. โดยที่หน้าที่ของสทศ. คือพัฒนาข้อสอบเพื่อวัดและประเมินมาตรฐานการศึกษา วัดความรู้ความสามารถของผู้เข้าสอบแต่ละคน สทศ.จะรับผิดชอบการประเมินผลด้านการศึกษาให้กับนักเรียนที่เรียนหลักสูตรไทย ในประเทศไทย หลายครั้งด้วยกันคือ ป.3, ป.6, ม.3, และ ม.6 แต่ในการสอบแอดมิชชั่นนั้นจะนับกันเฉพาะ การสอบวัดผลในระดับชั้น ม.6 เท่านั้น
     ยังมีอีก 1 องค์การที่จะไม่กล่าวถึงก็คงจะไม่ได้ คือ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้วางมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาให้กับโรงเรียนต่างๆในประเทศไทย เรียกง่ายๆว่า กระทรวงศึกษาเป็นผู้กำหนดหลักสูตร โรงเรียนมีหน้าที่สอนนักเรียนตามหลักสูตร และสทศ.มีหน้าที่สอบวัดผลโรงเรียนและนักเรียนแต่ละคนตามหลักสูตรนั่นเอง

กลับเข้าเรื่องแอดมิชชั่นกันต่อว่า มีวิชาอะไรบ้างที่จะต้องสอบกัน

     1. O-NET (Ordinary National Education Test) หรือการสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน ในตอนนี้จะพูดถึงการสอบ O-NET ในระดับชั้น ม.6 เพียงอย่างเดียว แนวคิดของ O-NET คือ การวัดผลของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนว่า ได้สอนนักเรียนของตัวเองตามหลักสูตรกระทรวงขนาดไหน ข้อสอบ O-NET นี้จะเป็นข้อสอบง่ายๆที่วัดเฉพาะพื้นฐานจริงๆเท่านั้น
     2. GAT (Genetal Aptitude Test) หรือมีชื่อเป็นภาษาไทยสั้นๆว่า  การสอบความถนัดทั่วไป ซึ่งจะเน้นเนื้อหาทางด้าน การอ่าน เขียน คิดวิเคราะห์การแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ รวมไปถึงการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ข้อสอบ GAT นี้จะมีความซับซ้อนมากกว่าความยาก
     3. PAT (Professional Aptitude Test) หรือมีชื่อเป็นภาษาไทยสั้นๆว่า การสอบความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ เป็นข้อสอบที่ยากที่สุดในสามตัวที่พูดถึง วิชาเฉพาะด้านที่มีสอบคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พื้นฐานวิศวกรรม พื้นฐานสถาปัตยกรรม พื้นฐานความเป็นครู และวิชาด้านภาษาอื่นๆนอกเหนือจากภาษาอังกฤษ

สอบเสร็จแล้วก็นำคะแนนที่ได้มา ไปยื่นเลือกคณะ

     การสอบแอดมิชชั่นจะสอบรวมกันทีเดียวเลย แล้วจะนำคะแนนของวิชาไหนมายื่นบ้างก็เป็นเรื่องของแต่ละคณะจะกำหนดกันเอาเอง รวมกับ เกรดเฉลี่ยในระดับชั้นมัธยมปลาย (GPAX) มาร่วมคำนวนด้วย โดยน้ำหนักของคะแนนสอบแต่ละส่วนจะแตกต่างกันไปตามมหาวิทยาลัยและคณะ การคิดคะแนนจึงค่อนข้างยุ่งยาก (มากกก) เมื่อนำคะแนนทั้งหมดสี่ส่วนมารวมกันเป็นคะแนนสุดท้าย แล้วนำคะแนนสุดท้ายที่ว่านี้มาทำการยื่นเลือกคณะอีกทีนึง
     การจะดูว่าคณะไหนต้องการคะแนนวิชาอะไรเท่าไหร่บ้าง หาไม่ยากครับ ที่ ห้องแนะแนว ของทุกๆโรงเรียนมีข้อมูลและเอกสารมากมายให้ศึกษา หากข้อมูลเยอะเกินไปจนขี้เกียจอ่านเองก็ลองใช้ทางลัด ถามอาจารย์แนะแนวดูก็ได้ครับ อาจารย์ยินดีให้คำปรึกษากับน้องๆทุกคนแน่นอนครับ อย่าเขิน อย่าอาย อย่างน้อยไปห้องแนะแนวก็ได้ตากแอร์ (หรือพัดลม) เย็นกว่าตากแดดที่สนามแน่ๆ

มีคณะไหนบ้างที่ไม่รับผ่านระบบแอดมิชชั่น

     จะมีข้อยกเว้นเกี่ยวกับการแอดมิชชั่นอยู่บ้าง เนื่องจากมหาวิทยาลัยหลายๆที่ไม่มีความเชื่อมั่นในการสอบแอดมิชชั่น จึงได้จัดการสอบตรงขึ้น โดยเฉพาะคณะทางด้านแพทย์ส่วนใหญ่จะรับเฉพาะการสอบตรง ไม่ค่อยจะได้เห็นคณะด้านแพทย์ที่รับเด็กที่ผ่านการสอบแอดมิชชั่นเท่าไหร่กันนัก และยังเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็วด้วย บางมหาวิทยาลัยรับผ่านแอดมิชชั่นปีที่แล้วแต่ไม่รับผ่านแอดมิชชั่นปีนี้ ต้องติดตามข่าวกันอย่างละเอียดปีต่อปีกันเลยทีเดียว ตรงกันข้ามกับการสอบตรงซึ่งรับทุกปี หากน้องๆต้องการเรียนต่อด้านแพทย์ ก็ควรจะเน้นไปที่การสอบตรงมากกว่าแอดมิชชั่นครับ
     เมื่อน้องๆได้รู้จักกับแอดมิชชั่นแล้ว เรื่องต่อไปคือ เราจะไปศึกษากันอย่างละเอียดกว่านี้เกี่ยวกับการสอบ O-NET GAT PAT อย่างละเอียดกันเป็นรายตัวเลยว่า แต่ละตัวสอบอะไรกันบ้าง อย่างไร เวบ ติวฟรี.คอม ได้รวบรวมข้อมูลให้น้องๆอย่างครบถ้วนแล้วครับ ให้น้องๆคลิ๊กที่ บทความแอดมิชชั่น ทางด้านขวามือของเวบ เพื่อรู้จักกับแอดมิชชั่นมากกว่านี้ครับ ขอให้น้องๆทุกคนโชคดีกับการสอบแอดมิชชั่นครับ
 
- See more at: http://www.tewfree.com/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99-admission-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/#sthash.sb0wv6FV.dpuf

7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่



7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่
เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ หรือเดิมคือ เจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบัน จัดทำขึ้นโดยองค์กรของสวิตซ์ The New Open World Corporation (NOWC) ซึ่งผลสรุปสุดท้ายได้ประกาศเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส โดยไม่เรียงตามลำดับคะแนน / วิกิพีเดีย
 
1.ชิเชน อิตซา คาบสมุทรยูคาตาน เม็กซิโก
ชิเชน อิตซาเป็นภาษามายาแปลว่า ต้นทางแห่งความสุขสบายของประชาชน ชิเชน อิตซาเป็นวิหารที่โด่งดังที่สุดของชนเผ่ามายา ถือเป็นศูนย์กลางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของอารยธรรมมายา การผสมผสานทางโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างหลากหลายชนิดของชิเชน อิตซา ทั้งพีระมิดแห่งเทพเจ้าคูคุลคาน (เทพเจ้าสูงสุดของชาวมายาซึ่งเป็นผู้สร้างมนุษย์) วิหารชัค มุล (รูปปั้นซึ่งเป็นศิลปะแบบมายา) ห้องโถงที่เต็มไปด้วยเสาหลายพันต้นและลานกว้างที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของประชาชนในอดีตนั้น แสดงให้เห็นถึงความพิเศษในเชิงสถาปัตยกรรมด้านการจัดวางองค์ประกอบของเนื้อที่และพื้นที่ใช้สอย โดยเฉพาะในส่วนของพีระมิดแห่งเทพเจ้าคูคุลคานซึ่งถือเป็นพีระมิดแห่งสุดท้ายและเป็นพีระมิดที่กล่าวได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของอารยธรรมมายาด้วย
2.รูปปั้นพระเยซูคริสต์ นครริโอเดอจาเนโร บราซิล
รูปปั้นพระเยซูคริสต์นี้ตั้งอยู่ที่ยอดเขากอร์โกวาโด มีความสูงราว 38 เมตร ได้รับการออกแบบโดยไฮตอร์ ดาซิลวา คอสตา ชาวบราซิล และสร้างโดยพอล ลันดอฟสกี้ ประติมากรชาวฝรั่งเศสเชื้อสายโปแลนด์ ใช้เวลาในการสร้าง 5 ปี โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ตุลาคม ปี พ.ศ.2474 รูปปั้นพระเยซูคริสต์นี้ถือเป็นอนุสาวรีย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของนครริโอเดอจาเนโร และเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวบราซิล มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ราว 1,800,000 รายต่อปี
3.มาชู ปิกชู ประเทศเปรู
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 จักรพรรดิ ปาชาคูเทค ยูปันกี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรอินคา ได้สร้างเมืองแห่งหนึ่งบนภูเขาซึ่งปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกชื่อว่า มาชู ปิกชู (มีความหมายว่าภูเขาโบราณ) ปัจจุบันอยู่ในประเทศเปรู ที่ตั้งของเมืองนี้ค่อนข้างกันดารยากที่จะเข้าถึง โดยตั้งอยู่บนที่ราบสูงแอนดิส ลึกเข้าไปในป่าอเมซอนและอยู่เหนือแม่น้ำอุรุบัมบา ซึ่งภายหลังชาวอินคาได้อพยพออกจากเมืองนี้เนื่องจากเกิดโรคระบาดขึ้น หลังจากอาณาจักรอินคาล่มสลายจากการพ่ายแพ้สงครามให้กับชาวสเปน เมืองแห่งนี้ก็ได้หายสาบสูญไปกว่า 3 ศตวรรษ จนกระทั่งได้รับการค้นพบใหม่โดยฮิราม บิงแฮม นักโบราณคดีชาวอเมริกัน ในปี พ.ศ.2454
4.กำแพงเมืองจีน
กำแพงเมืองจีนตั้งอยู่บนพรมแดนทางตอนเหนือของประเทศจีน เริ่มต้นสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉิน (ราวปี พ.ศ.322-337 หรือ 221-206 ปีก่อนคริสตกาล) โดยมีจุดประสงค์ในการเชื่อมโยงป้อมปราการให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อป้องกันการรุกรานจากชนเผ่ามองโกลในอดีต มีความยาวทั้งสิ้นกว่า 6,700 กิโลเมตร ถือเป็นสิ่งก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์ที่ยาวที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา ผู้คนจำนวนหลายพันคนต้องอุทิศชีวิตให้กับสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมานี้ นอกจากนี้ เคยมีผู้กล่าวไว้ว่ากำแพงเมืองจีนเป็นสิ่งก่อสร้างเพียงอย่างเดียวในโลกที่สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ กำแพงเมืองจีนได้รับการคัดเลือกโดยองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2529
 
5.เปตรา ประเทศจอร์แดน
เปตราเป็นภาษากรีก มีความหมายว่าหิน เมืองโบราณเปตราตั้งอยู่ในทะเลทราย เป็นเมืองหลวงของชนเผ่านาบาเชียนซึ่งเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจอร์แดนในสมัยก่อน สร้างขึ้นในสมัยของกษัตริย์อาเรตัสที่ 4 (9 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.40) ชาวนาบาเชียนสร้างเมืองแห่งนี้โดยใช้วิธีการแกะสลักหินให้เป็นช่องอุโมงค์ โรงละครของเมืองแห่งนี้ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงละครแบบกรีก-โรมันมีเนื้อที่สามารถจุผู้ชมได้ถึง 4,000 คน ส่วนหน้าของวิหารเอล เดียร์ ซึ่งสูง 42 เมตร ในเมืองแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ดีอีกแห่งหนึ่งของสถาปัตยกรรมแบบกรีกโบราณที่หลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้
6.ทัชมาฮาล เมืองอักรา ประเทศอินเดีย
ทัชมาฮาลสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ชาห์ จาฮัน เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของพระนางมุมทัซ มาฮาล มเหสีที่พระองค์ทรงรักมากที่สุดซึ่งเสียชีวิตขณะมีอายุได้เพียง 39 ชันษาหลังจากที่ให้กำเนิดบุตรคนที่ 14 ทัชมาฮาลสร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศักราช 1631-1648 สร้างโดยใช้หินอ่อนสีขาวทั้งหลัง รวมทั้งใช้วัสดุในการตกแต่งชั้นเลิศจากทั่วเอเชียซึ่งขนส่งโดยใช้ช้างกว่า 1,000 ตัว ทัชมาฮาลได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะแบบมุสลิมที่สวยงามสมบูรณ์แบบมากที่สุดในอินเดีย นอกจากนี้ ทัชมาฮาลยังเป็นสถานที่ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากที่สุดของอินเดีย มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมทัชมาฮาลราวปีละเกือบ 3 ล้านคน
7.สนามกีฬาโคลอสเซียม กรุงโรม ประเทศอิตาลี
สิ่งก่อสร้างรูปทรงโค้งเป็นวงกลม ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของกรุงโรมแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเหล่านักรบโรมันและเป็นอนุสรณ์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมัน สนามกีฬาแห่งนี้สูง 48 เมตร ยาว 188 เมตร และกว้าง 156 เมตร แนวคิดในการออกแบบโคลอสเซียมนี้ยังคงมีความสำคัญมาจนถึงทุกวันนี้ ดังจะเห็นได้จากการออกแบบสนามกีฬาแทบทุกแห่งในโลกนับตั้งแต่นั้นมาต้องปฏิบัติตามแม่แบบดั้งเดิมของโคลอสเซียมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้สิ่งที่ได้รับรู้จากภาพยนตร์และหนังสือบันทึกทางประวัติศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่าสนามกีฬาแห่งนี้มีแต่การต่อสู้และการแข่งขันที่โหดร้ายต่างๆ นานา เพื่อความสุขของผู้ชมเท่านั้นก็ตาม

 ที่มา
วิกิพีเดีย
7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ ทางธรรมชาติ
http://webboard.yenta4.com/topic/505340